ผู้ใดมีอาการอึดอัด อืดอาด เซื่องซึม ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย นอนไม่ดี ขาบวม ตัวบวม ความดันเลือดขึ้นสูง น้ำหนักขึ้นพรวดพราด ปวดประจำเดือน

คุณอาจจะมีน้ำคั่งค้างอยู่ในตัวมากเกินไปเรามีวิธีแก้ไขดังนี้

วิธีแก้อาการบวมน้ำ


พญ.ลลิตา ธีระสิริ

            อาการบวมน้ำคือความไม่สบายที่เกิดเนื่องจากปริมาณน้ำในร่างกายมีมากเกินปกติซึ่งทำให้เกิดมีอาการตามมามากมาย ตั้งแต่รู้สึกอึดอัด อืดอาด เซื่องซึม ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย นอนไม่ดี ขาบวม ความดันเลือดสูง ปวดประจำเดือน น้ำหนักขึ้นพรวดพราด เป็นต้น

สาเหตุของอาการบวมน้ำมาหลายปัจจัยคือ

            1. ฮอร์โมนในร่างกายโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศแปรปรวน ทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือน ปวดหลัง ปวดเอว ปวดศีรษะ ท้องอืด ท้องเสีย หน้าแข้งบวม ทำให้รู้สึกหนักขา และน้ำหนักขึ้น จะเกิดก่อนมีประจำเดือนทุกเดือน หรือเกิดในขณะตั้งครรภ์ ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน 
วิธีแก้คือนอกจากการงดอาหารเค็มแล้ว คงต้องพึ่งกรดแกมมาไลโนเลนิก โดยกินน้ำมันดอกพริมโรสบานเย็นวันละ 2 กรัมเป็นเวลา 3 เดือน เมื่อกินน้ำมันดอกพริมโรสบานเย็น ต้องงดนมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว กาแฟ ชา ชสฃาเขียวด้วย            

            2. กินเกลือโซเดียมมากเกินไป เพราะเกลือโซเดียมเมื่ออยู่ในร่างกายมันจะต้องอุ้มน้ำเอาไว้เสมอ เมื่อมีเกลือในร่างกายมากก็จะเกิดอาการบวมน้ำมาก 


วิธีแก้คือลดการกินเค็มลง รวมทั้งงดการกินผงชูรสอย่างเด็ดขาด เพราะผงชูรส คือ โมโนโซเดียมกลูตาเมท โซเดียมก็คือเกลือแบบเดียวกับเกลือเค็ม ๆ แต่เผอิญผงชูรสมันมีรสหวาน จึงทำให้คนทั่วไปไม่ได้ระมัดระวังเกลือตัวนี้

            3. แอลบูมินหรือไข่ขาวในเลือดต่ำ จะทำให้เลือดไม่สามารถดึงน้ำไว้ใด้ในหลอดเลือด น้ำจึงซึมออกไปอยู่ในเนื้อเยื่อ และทำให้เกิดอาการบวมน้ำ เช่น ในกรณีที่เป็นโรคตับ โรคมะเร็งในระยะท้าย และโรคไตบางชนิดที่สูญเสียไข่ขาวไปทางปัสสาวะ 
วิธีแก้คือการกินไข่ขาวทุกวันเช่นวันละ 6-9 ฟอง หรือไม่เช่นนั้นก็ให้แอลบูมินทางเส้นเลือดดำ

           4. มีก้อนไปขวางทางเดินของน้ำเหลือง น้ำจะคั่งอยู่ส่วนล่างของร่างกาย ทำให้เท้าบวม เช่น ความอ้วน ผู้หญิงท้อง มีก้อนในท้อง มีตับโต 

วิธีแก้คือต้องเอาก้อนนั้นออก เช่น ผ่าตัดออก หรือเมื่อน้ำหนักลดลงก้อนไขมันลดลง อาการบวมน้ำจะลดลงเอง

            5. การอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว ทำให้น้ำค้างอยู่ในส่วนล่างของร่างกาย เช่น นั่งรถทัวร์นาน ๆ ไม่ขยับเขยื้อนเท้าจะบวม เป็นต้น 
ในกรณีนี้แค่เดินไปมา หรือแค่ยกเท้าสูง ๆ อาการบวมก็จะหายไปเอง

           6. มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคไต ความดันเลือดสูงก็มีอาการบวมเช่นหนังตาบวม เท้าบวม วิธีแก้ก็คือ รักษาโรคหัวใจ โรคไต เมื่อควบคุมการทำงานของหัวใจและไตได้ดี อาการบวมก็จะลดลง

วิธีแก้อาการบวมน้ำโดยทั่วไป

            หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ หนักเนื้อหนักตัว ตื่นเช้าขึ้นมากำมือไม่เข้า หนังตาตุบ อึดอัด หนักแข้งขา กดตรงตำแหน่งหน้าแข้งแล้วบุ๋ม สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองคือ

- งดกินเค็ม งดผงชูรสโดยเด็ดขาด

- ออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ เช่น ฝึกชี่กง โยคะ หรือเดินนานประมาณครึ่งชม. ทุกเช้า

- กินสมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เช่น เหง้าตะไคร้ กระเจี๊ยบ กาแฟ ชาผูเอ่อ

- อย่านั่งห้อยขา ถ้าต้องนั่งนาน ให้มีเก้าอี้รองขาให้ยกสูงอยู่เสมอ

- ถูผิวหนัง เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำเหลือง

           วิธีการถูผิวหนังคือ ใช้บวบ ผ้าใยลินิน ผ้าขนหนู หรือแปรงขัดผิว เอาอุปกรณ์เหล่านี้ชุบน้ำ กดถูผิวหนังจากมือถึงไหล่ โดยกดถูลากยาวเป็นริ้ว ๆ เริ่มจากมือถูขึ้นมาถึงไหล่ วนถูโดยรอบแขน ลำตัวถูลงจากไหล่ลงไปถึงขาหนีบ ส่วนขาถูขึ้นจากเท้าขึ้นมาถงขาหนีบ


เริ่มต้นจากแขนซ้าย แขนขวา ลำตัวด้านหน้า ลำตัวด้านหลัง ขาซ้าย ขาขวา โดยถูวนสองรอบ 
เวลาในการถูผิวหนัง คือก่อนอาบน้ำ วันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น