โยคะรักษาโรค
                                                                                                                                                                                                                                                          

พญ.ลลิตา ธีระสิริ

            วันที่ 21 มิถุนายนคือวันโยคะโลก
โยคะถือเป็นการบริหารกายบริหารจิตอันเป็นที่ยอมรับในสากลแล้ว ทุกวันนี้จึงไม่มีใครในบ้านเราที่ไม่รู้จักโยคะ ด้วยโยคะเป็นศาสตร์แห่งสุขภาพ ในเมื่อกระแสการดูแลสุขภาพด้วยวิธีการทางธรรมชาติขึ้นสูง ใคร ๆ ก็หันมาเอาใจใส่สุขภาพ จึงมีชั้นเรียนสอนโยคะเกิดขึ้นในบ้านเรามากมาย

           โยคะมีที่มาจากอินเดีย เป็นศาสตร์ที่มีอายุกว่า 7,000 ปีแล้ว ท่าโยคะต่าง ๆ ล้วนเป็นท่าที่มาจากธรรมชาติทั้งสิ้น เนื่องจากผู้คิดค้นท่าโยคะคือ โยคีผู้แสวงหาทางหลุดพ้น เมื่อโยคีไปบำเพ็ญเพียรในป่าแล้วเกิดปัญหาสุขภาพ บรรดาโยคีก็ตระหนักว่าหากร่างกายไม่สบายแล้ว ย่อมเป็นอุปสรรคของการเจริญภาวนา โยคีปลีกวิเวกอยู่แล้วจึงต้องหาทางช่วยตัวเอง เพื่อทำให้สุขภาพดีขึ้น ท่าโยคะจึงเป็นท่าเลียนแบบธรรมชาติ โยคีสังเกตว่า เวลานกมันป่วยมันทำท่าไหนจึงจะสบายขึ้น งูมันทำท่าไหน ฯลฯ แล้วก็ทำท่าเลียนแบบสัตว์ต่าง ๆ ดังนั้นโยคะก็เลยมีท่ากระต่าย ท่านกยูง ท่างู ท่าเต่า ท่าปลา ท่าต้นไม้ ท่าดอกบัว เป็นต้น คนไทยเรียกโยคีว่าฤาษี เราจึงมีฤาษีดัดตนให้เห็นเป็นหลักฐาน ทำนอง หากโยคีปวดหลังก็จะมีท่าดัดหลัง ปวดไหล่ก็มีท่ายืดไหล่แบบยิงธนู เป็นต้น ใครสนใจสามารถไปดูได้ที่วัดโพธิ์ได้เลย
           ท่าโยคะเกิดจากการคิดค้นของโยคีแต่ละคน ท่าโยคะ หรือที่เรียกว่า “อาสนะ” นั้นจึงมีมากมาย ว่ากันว่ามีมากถึง หนึ่งแสนท่า จะเรียนไปเท่าไรก็ไม่รู้จักหมด ใครจะประดิษฐ์ท่าอย่างไรเอาเองก็ได้อีก ดังนั้นการหัดโยคะจึงง่ายมาก อยากทำท่าไหนก็ทำ หากท่าไหนทำแล้วได้ประโยชน์กับตนเอง ก็เป็นท่าประจำตัวของเราเอง เช่นเดียวกับท่าฤาษีวิศวามิตรก็มีท่าของตนเอง ฤาษีชฎิล ฤาษีอายันญาณ ก็มีท่าเก่งของตนเองอีกต่างหาก นี่อาจจะเพราะแต่ละคนมีปัญหาสุขภาพแตกต่างกันออกไป
อาจารย์ชด หัสบำเรอ กล่าวถึงโยคะว่า : การทำโยคะอาสนะเป็นการทำเพื่อตนเอง มิใช่การแสดงหรือโอ้อวดให้ใครชม การจะทำได้แค่ไหนเพียงไรไม่สำคัญ .... การอวดกันในเรื่องอาสนะพลิกแพลง เท่ากับเป็นการลดฐานะโยคะลงมาเท่ากับกายกรรม

               โยคะมีหลายสำนัก แตกต่างกันไปในรายละเอียด เช่น
               หะฐะโยคะ Hatha Yoga
               คุนดาลินีโยคะ Kundalina Yoga
               มันตระโยคะ Muntra Yoga
               ภักติโยคะ Bhakti Yoga
               ราชะโยคะ Raja Yoga
               กรรมะ โยคะ Karma Yoga
               ชินานะโยคะ Jinana Yoga และ
               ตันตระโยคะ Tantra Yoga เป็นต้น
               หะฐะโยคะจะเน้นที่การไหว้พระอาทิตย์ หรือ สุริยนมัสการ - sun salutation - ตันตระโยคะ นิยมการเต้นรำแบบโยคะ – yoga dance – ทั้งสองสำนักนี้เน้นการทำอาสนะที่กำหนดลมหายใจไปพร้อม ๆ กับการทำท่าต่าง ๆ เช่นเดียวกัน ส่วน คุนดาลินีโยคะ เน้นการเสริมพลังเป็นต้น

               ในประเทศไทย อาจารย์ชด หัสบำเรอ นำเอาหะฐะโยคะเข้ามาสอนเป็นคนแรกก็ว่าได้ อาจารย์ชดเองมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับฝีคัณฑสูตรซึ่งเป็น ๆ หาย ๆ พอได้ไปฝึกโยคะที่เชิงเขาหิมาลัยฝีคัณฑสูตรกลับหายไปได้เอง อาจารย์ชดจึงนำเอาโยคะเข้ามาเผยแพร่ในบ้านเรา

ทำไมโยคะจึงรักษาโรคได้
การรักษาโรคด้วยโยคะมีคำอธิบายเป็นหลายทฤษฎีคือ
              1. ทฤษฎีตาที่สาม หรือเนตรศิวะ หรือจันทร์แสงทิพย์ โยคีบอกว่าหากฝึกโยคะเป็นประจำ ตาที่สามจะเปิด จะเกิดพลัง และปัญญา ทุกวันนี้เรารู้ว่าตาที่สามนี้เป็นต่อมไร้ท่อเหนือสมองชื่อ ไพเนียล ต่อมไพเนียลมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเมลาโตนินซึ่งเรารู้ว่าจะทำให้เรานอนหลับพักได้ในเวลากลางคืน และทำให้มีอายุยืนยาว กับฮอร์โมนซีราโตนินที่ทำให้เรากระปรี้กระเปร่าในยามกลางวัน การฝึกโยคะเป็นประจำจะทำให้ฮอร์โมนสองตัวนี้อยู่ในสมดุล ทำให้ร่างกายและจิตใจเกิดความผ่อนคลาย สงบ และเกิดสภาวะของความมีสุขภาพดี
              2. ทฤษฎีพลังปราณ คือ พลังแห่งชีวิต ปกติสิ่งมีชีวิตทุกประเภทไม่ว่าพืชหรือสัตว์จะมีพลังงานเปล่งออกมาโดยรอบ บางครั้งเราก็เรียกพลังนี้ว่าออร่า พลังงานเคอร์เลี่ยน หรือพลังชี่ตามแบบจีน หากใครมีสุขภาพดีพลังแห่งชีวิตก็จะสวยงาม หากใครป่วยพลังนี้ก็จะลดลง การฝึกโยคะเป็นประจำจะทำให้พลังงานรอบตัวมีความเปล่งปลั่งสมบูรณ์ นั่นหมายความว่า สุขภาพโดยรวมก็จะดีขึ้นด้วย
              3. ทฤษฎีของจักระ จักระคือจุดตัดของลมปราณที่เคลื่อนขึ้นลงในร่างกาย มี 7 ตำแหน่ง ทุกจักระตรงกับต่อมไร้ท่อ ได้แก่ จักระที่กระหม่อมตรงกับต่อมไพเนียล ที่หน้าผากตรงกบต่อมพิทูอิทารีหรือต่อมใต้สมอง ระดับคอตรงกับต่อมไทรอยด์และพาราไทรอยด์ ตรงกลางหน้าอกตรงกับต่อมไทมัส ช่องท้องด้านบนตรงกับต่อมผลิตอินซูลินในตับอ่อน และต่อมหมวกไต ช่องท้องส่วนล่างตรงกับรังไข่และอัณฑะ จักระล่างสุดตรงกับเบอร์ซ่าซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับภูมิต้านทาน
ต่อมไร้ท่อทำงานอยู่นอกเหนือการควบคุมของร่างกาย หากเรามีฮอร์โมนต่าง ๆ อยู่ในระดับสมดุล เราก็จะไม่เจ็บไม่ป่วย ท่าของโยคะมีหลายท่าที่กระตุ้นการทำงานของต่อมไร้ท่อเหล่านี้ เช่น ท่ายืนไหล่มีผลต่อการทำงานของไทรอยด์ ท่าบิดตัวกระตุ้นการทำงานของตับอ่อนในการผลิตอินซูลิน เป็นต้น ผู้ใดที่ฝึกโยคะเป็นประจำจะไม่มีวันอ้วนเลย เนื่องจากฮอร์โมนต่าง ๆ อยู่ในสมดุลเสมอ
              4. ทฤษฎีของพลังจักรวาล โยคีพูดถึงพลังจักรวาลมานานแล้วจนมีคำกล่าวว่า “หากเข้าถึงโยคะก็จะเข้าถึงพลังแห่งจักรวาล” การไหว้พระอาทิตย์ก็คือ การรับเอาพลังจากสุริยเทพมาเพิ่มให้กับตัวเรา เพื่อเสริมความแข็งแรง นอกจากนี้ ในเรื่องนี้มีผู้รู้อธิบายว่า โยคะจะรักษาสมดุลของจิต ทำให้สงบ เกิดปัญญา การฝึกโยคะจะสามารถรับพลังจากจักรวาลมาเสริมให้เกิดปัญญาและการสร้างสรรค์ การกระทำของเราก็จะมีพลังและจะประสบแต่ความสำเร็จ
              5. ทฤษฎีการยืดกล้ามเนื้อ ปกติกล้ามเนื้อของเราทำงานด้วยการหดตัว เมื่อเลิกทำงานแล้วกล้ามเนื้อจะต้องคลายตัวออก การฝึกโยคะอาสนะทุกท่าเป็นการยืดกล้ามเนื้อทั้งสิ้น จึงทำให้ร่างกายเกิดความยืดหยุ่นสูง ไม่ปวดเมื่อยร่างกายง่าย ๆ ไม่นั่งโอยลุกโอย ทำให้มีบุคคลิกดี เสมอ

 

การฝึกโยคะ
               มีหลักการฝึกที่แน่นอน ได้แก่ ท่าทุกท่าจะกำกับด้วยลมหายใจเสมอ เป็นการคืนความสมดุลให้กับทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะในระหว่างวันเรานั่งเฉย ๆ แต่จิตใจคิดฟุ้งซ่าน แต่โยคะเป็นการกระทำที่กลับกัน คือ มีการเคลื่อนไหวร่างกายในขณะที่จิตจับอยู่กับลมหายใจทำให้จิตสงบ มีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้นจึงจะเกิดผลต่อสุขภาพ
การฝึกควรเป็นแบบสบาย ๆ ให้เวลากับตัวเอง ไม่ต้องเร่งรีบไปไหนจึงจะได้ผลต่อสุขภาพ
ควรฝึกโยคะในร่มที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี อุณหภูมิห้องควรต่ำกว่าอุณหภูมิร่างกาย แต่ก็ไม่ควรเย็นจนเกินไป เพื่อที่ร่างกายจะได้ระบายเอาความร้อนที่เกิดจากการฝึกออกไปได้ จึงจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ

 

              ใครอยากฝึกโยคะ ก็สามารถฝึกได้ทั้งนั้น อายุไม่ใช่ขีดจำกัด แต่ถ้าสูงวัยแล้วควรมีครูฝึกที่ชำนาญคอยให้คำแนะนำ เพราะจะได้ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บในระหว่างฝึก
ที่สำคัญ “อาสนะ” แปลว่าทำท่านี้แล้วสบาย การฝึกโยคะจึงไม่ควรเป็นอะไรที่ทรมานตัวเอง หากทำท่าไหนแล้วเจ็บแปลว่า ท่านั้นไม่ใช่ท่าของเรา