แนะนำตัว Dr.Pong

แนะนำตัว Dr.Aom

Treatment Training and Activities (2)

< >

Balavi Delivery อาหารสุขภาพ

จานอร่อยเพื่อคนสุขภาพดี จานรักษาโรค ตามแพทย์แนะนำ

โยคะ เพื่อสุขภาพ

การดูแลสุขภาพที่ส่งผลดีต่อด้านร่างกาย และด้านจิตใจ

บรรยาย สัมมนาสุขภาพ

รับจัดบรรยาย สัมมนาสุขภาพ ให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ

คอร์สธรรมชาติบำบัด

สอนปฏิบัติ แนะวิธีดูแลสุขภาพด้วยอาหาร ออกกำลังกาย

ไฮโดรแอโรบิค

การออกกำลังกาย เคลื่อนไหวในน้ำต่อเนื่องกัน มีความหนัก ความเบาผสมผสานกัน มีจังหวะของดนตรี

Iridology

อ่านม่านตา เข้าใจสุขภาพ และปลดล็อค Inner เพื่อ Growth Mind Set

เตรียมสุขภาพรับหน้าฝน

 

พญ.ลลิตา  ธีระสิริ



 ฝนเริ่มตกแล้ว เรากำลังผ่านจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน

 มาเตรียมสุขภาพให้พร้อมรับมือกับฝนกันเถอะ
 


 โรคที่มักจะมากับฝนแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ  ได้แก่

              1.โรคจากเชื้อไวรัส โดยเฉพาะไวรัสของทางเดินหายใจ

                  อากาศที่เย็นลง กับความชื้นที่มาจากฝนทำให้ไวรัสกลุ่มทางเดินหายใจโตเร็วกว่าปกติ  เราจึงมีโรคหวัด ไข้หัด และไข้หวัดใหญ่ ระบาดในหน้านี้  เด็ก ๆ ในบ้านของคุณป่วยมากี่รอบแล้วล่ะ  ต้องไปหาหมอกี่ครั้ง  ต้องกินยาปฏิชีวนะมานานเท่าไรแล้ว  ต้องหยุดเรียนกี่วัน  ไปติดหวัดมาจากเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนกี่ครั้ง  แล้วตัวคุณเองล่ะเป็นหวัดมากี่รอบแล้ว    ...  ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือปัญหาสุขภาพในบ้านในระยะนี้

                  หวัดและไข้หวัดมักจะทำให้เกิดอาการเจ็บคอ ไอ มีเสมหะ  กลายเป็นคออักเสบเพราะเชื้อแบคทีเรียแทรก  หากการติดเชื้อลุกลามไปก็จะกลายเป็นหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบและปอดบวม ทำให้อาการทรุดหนักลงเรื่อย ๆ

                   ธรรมดาหวัดและไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสจะหายไปได้เองภายใน 7 วัน หากมีไข้ ภายใน 3 วันไข้ควรจะลด  แล้วหลังจากนั้นอาการควรทุเลาลงเรื่อย ๆ  น่าจะถือเอาว่า  หากใครเป็นอะไรเกิดกว่า 3 วันไปแล้ว ควรจะไปปรึกษาหมอเสีย  อาการต่างๆ จะได้ไม่เรื้อรัง

               2.โรคจากยุง

                  ปีนี้อากาศร้อนจัด  องค์การอนามัยโลกคาดการณ์เอาไว้แล้วว่าปีนี้แมลงโดยเฉพาะยุงจะเจริญพันธุ์ได้มากกว่าปีก่อน ๆ   สังเกตไหมล่ะว่าปีนี้ยุงมากเหลือเกิน  เมื่อยุงมาก เราก็จะมีโรคที่เกิดจากยุงระบาดได้ด้วย

                  มาเลเรีย ระบาดแน่นอน  ยุงก้นปล่องอยู่ในป่า  มาเลเรียจึงพบอยู่ตามชายแดนไทยเท่านั้น  คนในเมืองหลวงไม่ถูกกระทบกระเทือนเท่าใดนัก  แต่หากใครไปเที่ยวแถบดงมาเลเรีย เมืองกาญจน์เป็นต้น  หากกลับมาแล้วมีไข้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ควรคิดถึงการติดเชื้อมาเลเรียไว้ด้วย  สำหรับโรคนี้ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าป้องกันไม่ให้ยุงกัดเป็นวิธีที่ดีที่สุด  เพราะยาป้องกันมาเลเรียชนิดไหน ๆ เชื้อมันก็ดื้อยาหมดแล้ว

                  ไข้เลือดออก ระบาดหนักมาตั้งแต่กรกฏาคมแล้ว  ไข้เลือดออกเกิดจากยุงลายที่ไข่ในน้ำขัง น้ำใสในบริเวณบ้าน  ทุกวันนี้ไม่แต่เฉพาะเด็กเล็กที่จะเป็นโรคนี้  เราพบไข้เลือดออกเป็นได้ในทุกอายุเลย  ดังนั้นต้องกำจัดแหล่งน้ำขัง  สำหรับ บ่อน้ำ อ่างบัวในบ้าน อาจจะต้องปล่อยปลาหางนกยูงลงไปให้ช่วยกำจัดลูกน้ำ

                  ถ้ามีไข้สูง อ่อนเพลีย ต้องระวังตัวว่า หากไข้ลดแล้วมีผื่นขึ้น ก็ต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้  การตรวจร่างกายและการตรวจเลือดจะช่วยยืนยันการวินิจฉัย

                  ไข้สมองอักเสบ  ไข้ชนิดนี้ก็เกิดจากยุง โดยมีหมูเป็นตัวกลาง  หากบ้านใครอยู่ในรัศมีของการเลี้ยงหมู 1 กม. จะต้องระวังลูกหลานให้ดี  หากมีไข้สูง อาเจียน ปวดศีรษะมาก ให้สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ให้ไปหาหมอโดยเร็วอาจจะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้  เพราะหากสมองอักเสบก็เท่ากับสมองเสีย ถึงตายได้  หากรอด บางคนก็กลายเป็นเจ้าหญิง เจ้าชายนิทราเลย  ... อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้มีวัคซีนป้องกัน  เด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนนี้

                 3. โรคที่มากับน้ำ  

                 ฝนมากับน้ำท่วมขังเป็นของคู่กัน  ดังนั้นในระยะนี้ แหล่งน้ำสะอาดอาจจะถูกปนเปื้อน  โรคระบาดที่ควรระวังคือโรคท้องร่วง  และที่ทางการประกาศให้คนที่ต้องลุยน้ำระวังคือ โรคฉี่หนู  ซึ่งมีอาการไข้สูง ตาแดง ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อน่องอย่างรุนแรง  ... ดังนั้นหลังลุยน้ำทุกครั้ง ต้องล้างเท้าล้างน่องให้สะอาดด้วยการฟอกสบู่เสมอ

วิธีป้องกันโรคในหน้าฝน

                 1. เสริมภูมิต้านทาน   ด้วยการใช้วิตามินซี  วิตามินซีจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นเซลล์ภูมิต้านทานของเรา  และทำให้เม็ดเลือดขาวอายุยืนกว่าธรรมดา หากได้วิตามินซีในระยะนี้จะช่วยทำให้ภูมิต้านทานของเราดีขึ้น

                 วิตามินซีจากอาหารมีมากในลูกมะกอก ยอดมะกอก  ตอนนี้มะกอกเริ่มออกลูก เริ่มมียอดให้เก็บ  สามารถเอามากินกับน้ำพริก ใส่มะกอกกับส้มตำ  

                 ที่คนในเมืองจะหาได้ง่ายกว่าคือ องุ่นแดง  เนื่องจากองุ่นแดงมี OPC ซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่าวิตามินซีถึง 20 เท่า ในระยะนี้กินองุ่นแดงเป็นประจำ ก็จะช่วยได้มาก  แต่อย่าลอกเอาเปลือกมันออก เพราะตรงนั้แหละที่เป็นที่อยู่ของ OPC

                 นอกจากนี้ก็หาวิตามินซีได้จากน้ำส้มคั้นสด ๆ  ฝรั่งสด ๆ เชอร์รี่ ลูกกีวี เป็นต้น

                 หากอยากกินวิตามินซีเป็นเม็ดเลย แนะนำให้ใช้ วิตามินซีชีวภาพ (1000 มก) ประเภทกรดน้อยหรือกรดต่ำ  กินวันละ 2-4 เม็ดในระยะนี้  หากเป็นเด็กก็ให้ลดลงตามส่วน

                2. ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย   ภูมิต้านทานของเราจะดีกว่าหากร่างกายมีความอบอุ่น  ความร้อนที่มากกว่า 37 องศาซึ่งเป็นอุณหภูมิปกติของร่างกาย จะกระตุ้นการทำงานของภูมิต้านทาน หากภูมิต้านทานดีก็จะลดอัตราเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสลง

                 ปฏิเสธไม่ได้ว่าในระยะนี้อาจจะต้องใส่เสื้อหนา ๆ เอาเสื้อหนาวบาง ๆ ติดตัวไว้ เพื่อป้องกันร่างกายไม่ให้เย็นเกินไป  โดยเฉพาะเด็ก ๆ

                 การแช่น้ำอุ่นในอ่างที่บ้านนานประมาณ 15 นาทีในระยะนี้  จะช่วยได้  อาจจะเติมน้ำมันหอมระเหย เช่นคาโมมายล์, ยูคาลิปตัส, ที ทรี, ลงไปในอ่างน้ำ  สำหรับเด็ก ๆ แช่น้ำอุ่นในกาละมังใหญ่ ๆ จะช่วยได้มาก  หากไม่มีอ่างน้ำก็สามารถใช้กาละมังใส่น้ำอุ่นแช่เท้าทุกวัน  วิธีแช่เท้าในน้ำอุ่น มีรายงานว่าจะทำให้เลือดไปเลี้ยงแถวโพรงจมูกมากขึ้น  และเชื้อหรือไม่ว่าวิธีการง่าย ๆ แค่นี้จะช่วยป้องกันหวัดได้ดี

                  การอบสมุนไพร  การอบซาวน่าก็มีประโยชน์ในระยะนี้  แต่การอาบน้ำอุ่นจากฝักบัว  เท่านี้ไม่เป็นการเพียงพอในการเพิ่มภูมิต้านทาน

                 3. พักผ่อนให้เพียงพอ  หากร่างกายได้พักอย่างเพียงพอในระยะนี้ก็จะทำให้ภูมิต้านทานแข็งแรงกว่า  ดังนั้นอย่าปล่อยให้เด็กอดนอน  สำหรับผู้ใหญ่ก็ไม่ควรออกไปเที่ยวดึก ๆ ดื่น ๆ  การตรากตรำงาน การอดนอน และการดื่มแอลกอฮอลล้วนให้ร่างกายอ่อนเพลียและภูมิต้านทานอ่อนแอลง

                 4. หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด   การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสหวัด ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่  อาศัยระยะห่างประมาณ 1 เมตร  หมายความว่าหากใครไอหรือจามออกมา  ละอองไอที่เป็นที่อยู่ของเชื้อไวรัสจะฟุ้งกระจายไปในรัศมี 1 เมตร  ดังนั้นโรงภาพยนตร์ คอนเสิร์ต เครื่องบิน โรงเรียน สำนักงาน จึงเป็นแหล่งแพร่เชื้ออย่างดี

                 น่าจะถือเป็นธรรมเนียมว่าหากใครเป็นหวัด  อาจจะหยุดงานไม่ได้  แต่ควรใส่ผ้าปิดปากไว้จึงจะป้องกันการแพร่เชื้อได้  

                5. ล้างมือบ่อย ๆ   การล้างมือบ่อย ๆ จะช่วยป้องกันมือที่อาจจะไปสัมผัสเอาไวรัสจากน้ำมูกน้ำลาย เสมหะจากคนที่เป็นหวัด ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ที่อาจจะป้ายเอาไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ ปุ่มกดลิฟต์ สินค้าตามห้างสรรพสินค้า ไม้ให้เข้าปากเข้าตาเข้าจมูกตนเอง แล้วติดเชื้อที่คนอื่นเขาแพร่เอาไว้

                สมควรพกเจลล้างมือเอาไว้  เมื่อไม่แน่ใจว่ามือไปจับอะไรเข้า และไม่สะอาด  ให้ล้างมือทุกครั้ง

               6. ระวังยุงกัด  ยุงเป็นพาหะของไข้เลือดออก และที่อันตรายกว่าคือไข้สมองอักเสบ

               ให้กำจัดแหล่งน้ำในบ้าน  อาจจะต้องหาไม้ตียุง มาใช้ไล่ยุงในบ้าน ใช้น้ำมันหอมระเหย ปัจจุบันมีขายสำเร็จรูปแบบเสียบปลั๊กเอาไว้ในห้อง   ใช้ยาสมุนไพรทากันยุง เช่นตะไคร้หอม  จุดยากันยุงเอาไว้นอกประตูเพื่อกันไม่ให้ยุงเล็ดลอดเข้าในมุ้งลวด   

               สมัยโบราณ ชาวบ้านมักจะสุมไฟไล่ยุง  ตังนั้นอาจจะใช้วิธีเผาเปลือกส้ม ใบตะไคร้หอม เอาต้นโกฏจุฬารำพา เป็นต้นเอาไว้นอกบ้าน ริมประตูเป็นต้น

 

News feed