- Category: ข่าวสุขภาพ
- Published: Thursday, 11 January 2018 06:56
- Written by Super User
- Hits: 5619
จานอร่อยเพื่อคนสุขภาพดี จานรักษาโรค ตามแพทย์แนะนำ
การดูแลสุขภาพที่ส่งผลดีต่อด้านร่างกาย และด้านจิตใจ
รับจัดบรรยาย สัมมนาสุขภาพ ให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ
สอนปฏิบัติ แนะวิธีดูแลสุขภาพด้วยอาหาร ออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย เคลื่อนไหวในน้ำต่อเนื่องกัน มีความหนัก ความเบาผสมผสานกัน มีจังหวะของดนตรี
อ่านม่านตา เข้าใจสุขภาพ และปลดล็อค Inner เพื่อ Growth Mind Set
ปลายฝนต้นหนาว
ยุงเยอะเช่นเคย ปีนี้มาแบบตัวดำ ๆ เล็ก ๆ
ปากคมกัดเจ็บชะมัด
กำจัดแหล่งน้ำก็แล้ว พ่นควันก็แล้ว
มันกัดกลางวันเสียด้วย
ระวังลูกหลานนะคะ ถึงจะไม่ใช่ยุงลายก็เถอะ
ตุ่มยุงกัด หากไม่อยากใช้ยาทา
ขมิ้นชันหรือขมิ้นเหลืองนั่นแหละค่ะดีที่สุด
เอามาแช่ตู้เย็นเก็บไว้ให้เก่าสัก 2-3 วัน
ให้หมดยางก่อน จะได้ไม่ระคายเคืองผิวเด็ก
มีตุ่มยุงกัดตรงไหน
เอาขมิ้นล้างให้สะอาด ตัดหัวมันออก เปิดเนื้อมันออก
แล้วใช้แท่งขมิ้นทาตรงนั้นเลย
วันละ 1-2 ครั้ง ตุ่มอักเสบจะยุบตัวลง
ทีนี้ก็ต้องป้องกันยุงไม่ให้กัดนั่นแหละดีที่สุด
ลองปฏิบัติดังนี้
○ ลดการกินเนื้อสัตว์ลง กลิ่นตัวจะได้ไม่ล่อยุงมากัด
○ กินข้าวกล้อง เพราะยุงเกลียดกลิ่นวิตามินบี1 จะเอาจริงต้องกินวิตามินบี 1 เป็นเม็ดสักวันละ 100 มก.
○ ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน เพราะยุงชอบสีมืดทึบทึม
○ เปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อย ๆ ให้ใส่เสื้อผ้าสะอาดและแห้ง เพราะกลิ่นเหงื่อที่หมักหมมจะล่อยุงมา โดยเฉพาะเด็ก
○ ไม่ออกกำลังกายตอนค่ำ เพราะความร้อนจากร่างกายและะกลิ่นเหงื่อจะล่อยุงมาตามคุณเป็นฝูง
○ ลองเปลี่ยนสบู่ ครีมทาตัวที่ใช้ เพราะกลิ่นสบู่บางก้อนครีมบางกลิ่น ก็ล่อยุงมากัด
หากทำยังไง ๆ ก็แล้ว ยุงก็ยังกัดอยู่ดี
ใช้ไม้ตียุง เอามาวางเตรียมพร้อมไว้ข้างตัวเลย
หรือ...หามุ้งมาครอบตัวเอง
ในห้องติดมุ้งลวดอีกทีก็แล้วกัน โดยเฉพาะเด็กแบเบาะ
เคมีบำบัดแบบอาศัย"โมเลกุลสว่าน" ลองอ่านข้อเขียนของ Disayaphong Jainukhan :
ผมรู้สึกแปลกใจนิดหน่อยว่าทำไมรางวัลโนเบลสาขาเคมีปีล่าสุดที่ประกาศผลไปเมื่อเดือนตุลาคม 2016 ถึงเลือกให้รางวัลกับผู้ที่คิดค้นโมเลกุลที่สามารถควบคุมให้เกิดการหมุนแบบมอเตอร์ (molecular motor) ไอเดียฟังดูน่าสนใจอยู่นะ แต่ก็แอบคิดว่ามันจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้ (วะ)
หกเดือนต่อมา มีข่าวในแวดวงนาโนเทคโนโลยีว่า นักวิทยาศาสตร์จากห้องแล็บต่างๆ ทั่วโลกสร้าง "รถนาโน" ที่มี molecular motor เป็นตัวขับเคลื่อนให้ล้อหมุนได้ แล้วจับพวกมันมาวิ่งแข่งกัน ผมยิ่งรู้สึกตลกเข้าไปใหญ่ ตกลงไอ้ที่ได้โนเบลกันโครมครามนี่มึงจับมาแข่งเอามันส์แบบนี้กันเหรอครับ
แต่เมื่อสองวันที่ผ่านมา ทัศนคติเชิงลบที่เคยมีต่อ molecular motor ของผมนี่หายไปจนหมดสิ้นหลังจากได้อ่านผลงานวิจัยเรื่องหนึ่งที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา
จั่วหัวว่า Nature ขนาดนี้ มันต้องไม่ธรรมดาแน่นอน !!
ทีมวิจัยจาก Rice University ในสหรัฐนำโดยศาสตราจารย์ James M. Tour ได้สังเคราะห์โมเลกุลขึ้นมาชุดหนึ่งโดยได้รับแรงบันดาลใจจากโมเลกุลต้นแบบของ Ben Feringa เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมีปีล่าสุด โมเลกุลที่ว่านี้มีพันธะเคมีอยู่หนึ่งตำแหน่งที่สามารถสั่งการให้มันหมุนได้โดยใช้แสงยูวีเป็นตัวควบคุม
ศาสตราจารย์ทัวร์ได้ออกแบบโมเลกุลให้มีหัวที่แหลมและสามารถเจาะทะลุอะไรบางอย่างได้ แถมยังติดขาให้มันสองข้างด้วยสายเปปไทด์ (โปรตีนสายสั้นๆ) ให้มีความจำเพาะเจาะจงกับพื้นผิวพิเศษที่เขาอยากจะเจาะมันลงไป พื้นผิวที่ว่าก็คือ "เยื่อหุ้มเซลล์" นั่นเอง
ภาพที่เกิดขึ้นมาในหัวของเขาตอนออกแบบการทดลองก็คือการสั่งให้โมเลกุล "สว่าน" ของเขาเจาะลงไปบนเยื่อหุ้มเซลล์จนเกิดรูเต็มไปหมด พอถึงการทดลองจริงๆ ศาสตราจารย์ทัวร์และทีมวิจัยก็นำเอาเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากมาทดสอบดูเพื่อความสะใจซะเลย
เมื่อนำเซลล์มะเร็งมาแช่ในสารละลายที่มีโมเลกุลสว่านผสมอยู่ โมเลกุลสว่านจิ๋วจะเข้ามาเกาะบนเยื่อหุ้มเซลล์ได้เองโดยใช้ขาเปปไทด์ที่ออกแบบไว้เป็นตัวจับยึด เมื่อถึงเวลาอันสมควรฤกษ์ ศาสตราจารย์ทัวร์ก็กดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย ฉายแสงยูวีลงไปที่เซลล์มะเร็ง
พันธะเคมีที่ได้รับแสงยูวีถูกกระตุ้นให้เกิดการหมุนด้วยความเร็วสูง สว่านจิ๋วจึงเจาะทะลวงเข้าไปในเยื่อหุ้มเซลล์ได้เมื่อฉายแสงเพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น เซลล์มะเร็งที่เคยมีเยื่อหุ้มเซลล์ปกป้องก็ถูกสว่านเจาะจนพรุน ไม่นานนักเซลล์มะเร็งก็ถึงแก่ความตาย
การค้นพบนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของรักษามะเร็งด้วยวิธีใหม่ จากการฉายแสงวิธีเดิมที่ทำร้ายเซลล์ดีๆ ไปพร้อมกันด้วย ต่อไปนักวิทยาศาสตร์จะออกแบบโมเลกุลของสารเคมีให้เฉพาะเจาะจงกับเซลล์ที่ป่วยแล้วเข้าไปบำบัดที่กลุ่มเซลล์ที่กำลังมีปัญหาเพียงจุดเดียวเท่านั้น
ถ้าการรักษามะเร็งแบบเดิมเรียกว่า "เคมีบำบัด" ผมขอเรียกวิธีการใหม่ที่ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ทัวร์คิดค้นขึ้นมาว่า "สว่านเคมีบำบัด"
โคตรเท่เลยครับศาสตราจารย์ !!!
อ่านเพิ่มเติม - Nature 2017, DOI: 10.1038/nature23657
เพิ่มพลังสมอง เสริมความจำให้ผู้สูงวัย
พญ.ลลิตา ธีระสิริ
ทุกวันนี้คนไทยอายุยืนขึ้น จนมีคำกล่าวว่า ต่อไปเราจะมี “สังคมของผู้สูงอายุ” จึงต้องมีการเตรียมแก้ปัญหาของผู้สูงวัย อาการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทุกคนใส่ใจคือ “หลงลืม” และข่าวร้ายก็คือ ปัจจุบัน คนไทยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์กว่า 8 แสนคน ดังนั้นหากไม่อยากเป็นโรคนี้ คุณต้องดูแลตัวเอง และต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้
คนเรามีสมองอันเดียว และในสมองมีเซลล์จำกัด
ตั้งแต่เกิด เซลล์สมองมีปริมาณเท่าใดก็จะมีคงที่อยู่เท่านั้น ไม่สามารถเพิ่มจำนวนมากขึ้น พอคนเราแก่ตัวเซลล์สมองก็มีแต่ละลดลง นั่นหมายความว่า ในวัยเด็ก เราอาจจะสะสมความสามารถทางสมองให้เพิ่มมากขึ้นได้ แต่พออายุมากขึ้นเซลล์สมองมีแต่จะตายไป ทำให้พลังทางสมองลดลง
ถึงแม้ว่าอายุจะเพิ่มมากขึ้น แต่เราสามารถดูแลตัวเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง และชะลอความเสื่อมของสมองลงไปพร้อม ๆ กัน ได้ด้วยวิธีการทางธรรมชาติ โดยอาศัยอาหารและปรับพฤติกรรมของตนเองได้ดังนี้
1. บริหารสมองเป็นประจำ สมองก็เป็นเช่นร่างกายส่วนอื่น ๆ ที่หากไม่ใช้ก็จะลีบฝ่อ เช่น หากไม่เดินกล้ามเนื้อก็จะลีบ หากไม่กระตุ้นกระดูกมันก็จะบางตัวลง หากไม่ใช้สมอง มันก็จะเฉื่อยเนือยและทำงานน้อยลง เช่นทุกวันนี้เราดิดเลขในใจกันไม่เก่งเพราะเคยชินแต่การกดเครื่องคิดเลข
มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันตรงกันว่าคนที่ไม่ได้ใช้สมอง เนื้อสมอง จะเหลือน้อยกว่าคนที่บริหารสมองด้วยการอ่าน การคิด เป็นประจำ แถมยังมีอายุสั้นกว่าด้วย ดังนั้นหากอยากบริหารสมอง ให้กระทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เช่นเดินถอยหลัง เขียนหนังสือมือซ้าย หัดเล่นดนตรี เล่นเกมส์คอมพิวเอตร์ที่ต้องใช้สมองมากกว่าการยิงทำลายล้าง เล่นซูโดกุ เล่นปริศนาอักษรไขว้ เรียนภาษาต่างประเทศ เป็นต้น
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สมองของเราจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมีออกซิเจนไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ การออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่นในสวนสาธารณะ เป็นเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง และเป็นการป้อนสมองด้วยออกซิเจนในเวลาเดียวกัน แต่การออกกำลังกายนั้นควรจะต้องสมวัย ไม่โหมตัวเองหนักเกินไป การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุเช่น เดิน เดินเร็ว รำมวยจีน จะเป็น ชี่กง หรือไท้เก็ก ตามแต่สะดวก
แต่ที่สำคัญต้องทำสม่ำเสมอ เช่นสัปดาห์ละ 3-5 วัน นานครั้งละครึ่งชั่วโมงขึ้นไป
สำหรับผู้สูงวัย การออกกำลังกายที่หนักเกินไปจะเป็นการบั่นทอนสุขภาพเสียมากกว่า พึงระลึกไว้ว่าควรเดินสายกลางในเรื่องนี้
นอกจากนี้วิธีการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองยังสามารถทำได้ด้วยการอบความร้อน เช่น อบสมุนไพร ซาวน่า การอาบน้ำแร่ หรือ อบไอน้ำ แต่ว่า ต้องอบร้อนสลับเย็นเท่านั้น กล่าวคือ อบความร้อน 3 นาที แล้วทำให้ร่างกายเย็นลงด้วยการอาบน้ำฝักบัว หรือแช่ในอ่างน้ำเย็น 2 นาที สลับร้อน-เย็น ดังกล่าว 3 รอบ
การอบความร้อนเฉย ๆ ไม่ได้ผล มันกลับจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง
3. น้ำตาลมีความสำคัญต่อสมอง สมองของเราจะทำงานได้ดี ในร่างกายต้องมีระดับน้ำตาลมากกว่า 80 มก./ดล. แต่ต้องน้อยกว่า 110มก./ดล. (คือต้องไม่เป็นเบาหวานด้วย) เซลล์สมองจึงจะทำงานมีประสิทธิภาพดี จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือสูงขนาดนี้ได้ต้องกินข้าวกล้องทุกมื้อ กินเมล็ดพืชที่ไม่ขัดขาว การกินหวาน กินน้ำตาลจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่านี้
4. อาหารป้องกันอาการเสื่อมของสมอง หากต้องป้องกันการเกิด ทอโปรตีน และ ตะกรันของเบต้าอะมัยลอยด์ ในสมองเพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์ มีอาหารหลายประเภทที่ช่วยได้ ปัจจุบันจากการวิจัยพบว่า หากเกิดสารทอโปรตีน และตะกรันของเบต้าอะมัยลอยด์ในสมอง มันจะเหนี่ยวนำทำให้เซลล์สมองตาย และเกิดอาการของอัลไซเมอร์ งานวิจัยยังพบว่า มีอาหารหลายชนิดสามารถป้องกันการเกิดโปรตีนตั้งต้นของอัลไซเมอร์ดังกล่าวได้ ส่วนใหญ่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระฤทธิ์แรงทั้งหลายได้แก่
- เบต้าแคโรทีน ในผัก ผลไม้สีเขียวจัด ๆ เช่น ตำลึง คะน้า บร็อคโคลี่ ปวยเล้ง ผักผลไม้สีเหลือง และแดง เช่น แครอท มะละกอ ฟักทอง ทั้งหมดนี้จะช่วยชะลอความชราของสมองโดยรวม
- วิตามินซี ในผักสดและผลไม้สดทุกประเภท ที่มีมาก ๆ ได้แก่ มะขามป้อม สมอไทย มะกอก ฝรั่ง เชอร์รี่ ช่วยยับยั้งการเกิดโปรตีนตัวตั้งต้นของอัลไซเมอร์ ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองดีขึ้น
- วิตามินอี ในข้าวกล้อง เมล็ดธัญพืชทุกชนิด ถั่วหรือผลไม้เปลือกแข็ง เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง จะช่วยทำให้เส้นเลือดในสมองสะอาด จึงประกันว่าสมองจะได้ออกซิเจนไปเลี้ยงเพียงพอ
- สารโอ พี ซี หรือโปรแอนโทไซยานิดีน เช่น องุ่นแดง เปลือกต้นสน เมล็ดลำไย จะทำให้ความจำดี และทักษะการพูดโต้ตอบในผู้สูงอายุดีขึ้น
- ไลโคปีน พบในมะเขือเทศ จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการหลงลืม
- แอนโทไซยานิน พบในดอกอัญชัน ข้าวหอมนิล ข้าวเหนียวดำ บลูเบอร์รี่ สารต้านอนุมูลอิสระฤทธิ์แรงเหล่านี้จะช่วยรักษาหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองให้สะอาด ไร้การอุดตัน
- ซินนามอนัลดีไฮด์ พบในอบเชย สามารถสยบทอโปรตีนไม่ให้ทำร้ายเซลล์สมอง
- สังกะสี มีมากในเมล็ดฟักทอง จะช่วยทำให้ความจำดีขึ้น รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการคิดวิเคราะห์
- เคอร์คูมิน ในขมิ้นชัน จะช่วยยับยั้งเบต้าอะมัยลอยด์ช่วยป้องกันอัลไซเมอร์
- โอเมก้า 3 คือน้ำมันปลาจากปลาทุกประเภท จะช่วยการสั่งงานของสมองให้ดีขึ้น ดังนั้นผู้สูงวัยกินปลาทุกวันจึงดีต่อสุขภาพ เพราะปลาทั้งย่อยง่าย ทั้งเพิ่มพลังสมอง
- คาเฟอีน จากกาแฟ ชาจีน และชาเขียว มีงานวิจัยพบว่าคนที่เป็นอัลไซเมอร์มักจะไม่กินกาแฟ หรือชา นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า คาเฟอีนสามารถยับยั้งการเกิดโปรตีนตัวตั้งต้นที่จะทำให้เกิดอัลไซเมอร์
ดังนั้นหากหาโอกาสกินอาหารประเภทที่กล่าวมาสม่ำเสมอ สมองของเราก็จะมีประสิทธิภาพในการทำงานดีรอบด้านไม่ว่าจะมีอายุเท่าใด ทั้งยังสามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย